วันพุธที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2553

สสส. ชี้เด็กไทยกำลังเผชิญวิกฤติ 6 ด้าน

สสส.ชี้สถานการณ์ สังคม เด็กไทยเผชิญ 6 วิกฤติ แม่วัยรุ่นเพิ่ม 40% และอัตราครอบครัวหย่าร้าง 1 ใน 3 ของการจดทะเบียน จับมือกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ คลี่คลายวิกฤติใน 3 กลุ่มเป้าหมาย

          ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) วันที่ 7 ธันวาคมนี้ มีการแถลงข่าว "ทิศทางความร่วมมือ สู่การปฏิรูปสังคม" ระหว่างกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และ สสส.ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า สังคมไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เด็กและเยาวชนไทยเผชิญกับวิกฤติ 6 ด้านที่สำคัญ คือ

          ความรุนแรงในเด็ก จากรายงานของกระทรวงสาธารณสุขในปี 2552 พบว่า เด็กและเยาวชนไทยถูกกระทำความรุนแรงส่วนใหญ่จากคนใกล้ชิด อันดับ 1 คือ คนรัก จำนวน 4,509 คน หรือ 54% รองลงมาคือ เพื่อน จำนวน 2,086 คน หรือ 25%

          การบริโภคสื่อและเทคโนโลยีที่ไม่สร้างสรรค์ ซึ่งสื่อทางอินเทอร์เน็ตกำลังเป็นที่นิยมในขณะนี้ แต่กลับพบว่าใน 40 เว็บไซต์ยอดนิยมของไทยมากกว่า 50% มีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมทางเพศ
         
          ปัญหาการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย นำไปสู่การตั้งครรภ์การทำแท้งและติดเชื้อเอดส์ โดยภายในระยะเวลาเพียง 8 ปี คือระหว่างปี 2545-2552 มีวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ก่อนวัยเพิ่มขึ้นจาก 10% เป็น 40% และช่วงอายุมีแนวโน้มลดลง
         
          ปัญหาการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาเสพติด ในแต่ละปีจะมีนักดื่มหน้าใหม่เกิดขึ้น 2.6 แสนคน ขณะที่ปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติดในสถานศึกษาเพิ่มขึ้น

          ปัญหาอุบัติเหตุและปรากฏการณ์รถซิ่ง ทำให้ในปี 2552 มีเด็กและเยาวชนเสียชีวิตถึง 10 วันต่อราย

          ปัญหาทางด้านอารมณ์และจิตใจ ส่งผลให้เกิดพฤติกรรมซึมเศร้าและทำร้ายตนเอง

          ขณะที่สถานการณ์ของครอบครัวไทยในปัจจุบันที่กำลังเผชิญ

          อันดับ 1 การหย่าร้างที่เพิ่มขึ้น ซึ่งในปี 2550 มีอัตราหย่าร้างสูงถึง 1 ใน 3 ของการจดทะเบียน

          อันดับ 2 ความรุนแรงในครอบครัว

          อันดับ 3 สัมพันธภาพของคนในครอบครัวที่ลดลง

          นอกจากนี้ยังพบคนกลุ่มเฉพาะที่ต้องมีการดูแลเป็นพิเศษ โดยพบจำนวนเด็กและผู้สูงอายุที่เข้ารับการสงเคราะห์ ในสถานสงเคราะห์เพิ่ม ขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงปัญหาแม่วัยรุ่นและท้องไม่พร้อม จากรายงานของยูนิ เซฟพบว่า จำนวนแม่วัยรุ่นไทยต่ำกว่า 20 ปีสูงถึง 150,000 คน

          ทพ.กฤษ ดากล่าวว่า กลุ่มบุคคลทั้ง 3 กลุ่มนี้เป็นกลุ่มคนที่จำเป็นต้องมีการดูแล และมีมาตรการเฉพาะเพื่อมาแก้ไขปัญหา จึงเป็นที่มาของความร่วมมือกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในการทำงาน 3 กลุ่มเป้าหมายที่สำคัญ คือ เด็กและเยาวชน ครอบครัว และกลุ่มคนเฉพาะซึ่งถือเป็นหน่วยที่เล็กที่สุดของสังคม แต่เป็นหน่วยที่มีพลังมากที่สุดของการเปลี่ยนแปลงและเป็นรากฐานที่สำคัญ ของการปฏิรูปสังคม

          นางพนิตา กำภู ณ อยุธยา ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า ทิศทางในการขับเคลื่อนและพัฒนาสังคมอย่างเป็นรูปธรรมผ่านความร่วมมือระหว่าง กระทรวง การพัฒนาสังคมฯ กับ สสส. ประกอบด้วย 4 ด้าน คือ

          ความร่วมมือระดับกระทรวงในการส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ระดับผู้บริหารและการพัฒนาศักยภาพผู้นำ เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคมร่วมกัน โดยส่งเสริมโครงการและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาสังคม

          ความร่วมมือส่วนราชการระดับกรมในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชน ครอบครัว ชุมชน และท้องถิ่น และกลุ่มที่มีความต้องการพิเศษ โดยมีกลไกการทำงานร่วมกัน (Co-Management) ระหว่างหน่วยงานในสังกัดของกระทรวงและภาคีเครือข่ายของ สสส. โดยมีกิจกรรมและเป้าหมายเป็นตัวตั้ง

          ความร่วมมือระดับพื้นที่ โดยนำประเด็นข้อตกลงจากระดับกรมลงไปปฏิบัติการในระดับพื้นที่ ทั้งองค์กร ปกครองท้องถิ่นและชุมชน

          ความร่วมมือในการจัดให้มีคณะกรรมการ เพื่อวางแนวทางและประสานการดำเนินงานร่วมกัน


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

วันจันทร์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

วิทยาศาสตร์ คืออะไร

   




วิทยาศาสตร์ หมายถึง ความรู้เกี่ยวกับสิ่งต่างๆในธรรมชาติทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต รวมทั้งกระบวนการประมวลความรู้เชิงประจักษ์ ที่เรียกว่ากระบวนการทางวิทยาศาสตร์ และกลุ่มขององค์ความรู้ที่ได้จากกระบวนการดังกล่าว
          คำว่า science ในภาษาอังกฤษ ซึ่งแปลว่า วิทยาศาสตร์นั้น มาจากภาษาลาติน คำว่า scientia ซึ่ง หมายความว่า ความรู้ ในคริสต์ศตวรรษที่ 17 ฟรานซิส เบคอนได้พยายามคิดค้นวิธีมาตรฐานในการอุปนัย เพื่อนำมาใช้สร้างทฤษฎีหรือกฎต่างๆ ทางวิทยาศาสตร์จากข้อมูลที่ทดลองหรือสังเกตได้จากธรรมชาติ
         โดยทั่วไปเราถือกันว่า วิทยาศาสตร์สมัยใหม่ เริ่มต้นในยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ โดยมี "บิดาแห่งวิทยาศาสตร์สมัยใหม่" คือ กาลิเลโอ กาลิเลอี เป็นผู้ถอนรื้อและปรับปรุงแนวความคิดเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์สมัยเก่า ที่ยึดกับแนวความคิดของอริสโตเติลทิ้งไป. ณ ขณะนั้น กาลิเลโอได้กำหนดลักษณะสำคัญของวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ไว้ดังนี้
  • ทำนายสิ่งที่เกิดขึ้นใน ปรากฏการณ์ธรรมชาติได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องอธิบายสาเหตุได้ เช่น ในขณะที่ยังไม่มีความรู้เรื่องแรงโน้มถ่วงนั้น กาลิเลโอไม่สนใจที่จะอธิบายว่า "ทำไมวัตถุถึงตกลงสู่พื้นดิน ?" แต่สนใจคำถามที่ว่า "เมื่อมันตกแล้ว มันจะถึงพื้นภายในเวลาเท่าใด ?"
  • ใช้คณิตศาสตร์เพื่อเป็นภาษาหลักของวิทยาศาสตร์ (ดูหัวข้อ คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์)
         ในเวลาต่อมา ไอแซก นิวตันได้ต่อเติมรากฐานและระบบระเบียบของแนวคิดเหล่านี้ และเป็นต้นแบบสำหรับสาขาด้านอื่นๆ ของวิทยาศาสตร์
         ก่อนหน้านั้น, ในปี ค.ศ. 1619 เรอเน เดส์การตส์ ได้เริ่มเขียนความเรียงเรื่อง Rules for the Direction of the Mind (ซึ่งเขียนไม่เสร็จ). โดยความเรียงชิ้นนี้ถือเป็นความเรียงชิ้นแรกที่เสนอกระบวนการคิดเกี่ยวกับ วิทยาศาสตร์สมัยใหม่และปรัชญาสมัยใหม่. อย่างไรก็ตามเนื่องจากเดส์การตส์ได้ทราบเรื่องที่กาลิเลโอ ผู้มีความคิดคล้ายกับตนถูกเรียกสอบสวนโดยโป๊ปแห่งกรุงโรม ทำให้เดส์การตส์ไม่ได้ตีพิมพ์ผลงานชิ้นนี้ออกมาในเวลานั้น
         การพยายามจะทำให้ระเบียบ วิธีทางวิทยาศาสตร์เป็นระบบนั้น ต้องพบกับปัญหาของการอุปนัย ที่ชี้ให้เห็นว่าการคิดแบบอุปนัย (ซึ่งเริ่มต้นโดยฟรานซิส เบคอน) นั้น ไม่ถูกต้องตามหลักตรรกศาสตร์. เดวิด ฮูมได้อธิบายปัญหาดังกล่าวออกมาอย่างละเอียด คาร์ล พอพเพอร์ในความคิดลักษณะเดียวกับคนอื่นๆ ได้พยายามอธิบายว่าสมมติฐานที่จะใช้ได้นั้นจะต้องทำให้เป็นเท็จได้ (falsifiable) นั่นคือจะต้องอยู่ในฐานะที่ถูกปฏิเสธได้ ความยุ่งยากนี้ทำให้เกิดการปฏิเสธความเชื่อพื้นฐานที่ว่ามีระเบียบวิธี 'หนึ่งเดียว' ที่ใช้ได้กับวิทยาศาสตร์ทุกแขนง และจะทำให้สามารถแยกแยะวิทยาศาสตร์ ออกจากสาขาอื่นที่ไม่เป็นวิทยาศาสตร์ได้
           ปัญหาเกี่ยวกระบวนการปฏิบัติของวิทยาศาสตร์มี ความสำคัญเกินขอบเขตของวงการวิทยาศาสตร์ หรือวงการวิชาการ ในระบบยุติธรรมและในการถกเถียงปัญหาเกี่ยวกับนโยบายสาธารณะ การศึกษาที่ใช้วิธีการนอกเหนือจาก แนวปฏิบัติทางวิทยาศาสตร์ที่เป็นที่ยอมรับ จะถูกปฏิเสธ และถูกจัดว่าเป็น วิทยาศาสตร์ขยะหรือศาสตร์ปลอม

ขอบคุณข้อมูลจาก
http://blog.eduzones.com/jschild/10267
ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

วันอาทิตย์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

๑๐ คุณลักษณะ ครูพันธุ์ใหม่ 

ดร.พลสัณห์ โพธิ์ศรีทอง รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา




ท่านคงเคยได้ยินชื่อ "ครูพันธุ์ใหม่" จากทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ หรือแม้แต่ในวงการประชุมสัมมนา หลายคนคงพอนึกได้ว่าครูพันธุ์ใหม่เกิดขึ้นหลังจากมีการปฏิรูปการศึกษาตามนัยแห่ง ...การศึกษาแห่งชาติปี พ..2542 ที่กำหนดว่าระบบและกระบวนการผลิตพัฒนาครูจะต้องปรับเปลี่ยนให้ได้ครูที่มีศักยภาพ คุณภาพ สมกับเป็นวิชาชีพชั้นสูง จึงได้มีการผลิตครูระบบใหม่เกิดขึ้น ออกแบบหลักสูตรเป็น 5 ปี ซึ่งหลายคนก็เรียกว่า "ครูห้าปี" เมื่อจบหลักสูตรจะได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู สังคมและในวงวิชาการต่างคาดหวังว่า "ครูห้าปี" จะเป็นสายเลือดใหม่และผู้นำทางการศึกษารุ่นใหม่ที่จะมากู้วิกฤตศรัทธาในวิชาชีพครู มาเป็นอัศวินม้าขาวในการปฏิรูปการศึกษา จึงมีคำถามมากมายว่า "ครูพันธุ์ใหม่" หรือ "ครูยุคใหม่" เป็นอย่างไร แตกต่างจากครูยุคก่อนๆ อย่างไร จากการที่ได้รวบรวมแนวคิด การทำวิจัย การประกาศหลักการของประเทศต่างๆ การประชุมสัมมนา รวมทั้งการสำรวจแล้วจัดทำคุณลักษณะครูยุคใหม่ที่คาดหวังครูเลือดใหม่-ครูพันธุ์ใหม่ น่าจะมีภาพลักษณ์ คุณลักษณ์ ที่สะท้อนมาจากหลักการ (Principle) 10 ประการ ซึ่งน่าจะใช้เป็นมาตรฐานการผลิตและพัฒนาครูใหม่-ครูเก่าที่อยู่ในระหว่างการพัฒนาได้

หลักการที่ 1 : ครูพันธุ์ใหม่มีความเข้าใจในเรื่องของแนวคิดหลักแห่งวิชาชีพครู มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของเครื่องมือที่จะใช้สำหรับการแสวงหาความรู้ การสอบถาม มีความเข้าใจในโครงสร้างของสาขาวิชาที่ตนเป็นผู้สอน และสามารถสร้างสรรค์ประสบการณ์ในการเรียนรู้ที่จะช่วยส่งเสริมให้เนื้อหาวิชาเหล่านั้นเกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้เรียน

หลักการที่ 2 : ครูพันธุ์ใหม่มีความเข้าใจในเรื่องของการเรียนรู้และพัฒนาของเด็ก รู้จักสร้างโอกาสในการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นเพื่อช่วยเสริมสร้างพัฒนาการทางสติปัญญา สังคมและพัฒนาการส่วนบุคคล

หลักการที่ 3 : ครูพันธุ์ใหม่มีความเข้าใจถึงความแตกต่างในการเรียนรู้ของเด็กและสามารถสร้างสรรค์โอกาสในการจัดการเรียนการสอนที่จะนำไปประยุกต์ใช้กับผู้เรียนที่หลากหลายได้

หลักการที่ 4 :  ครูพันธุ์ใหม่มีความเข้าใจและรู้จักใช้ยุทธวิธีที่หลากหลายในการสอน เพื่อกระตุ้นให้เด็กได้รู้จักคิดอย่างมีเหตุผล สามารถแก้ไขปัญหาและมีทักษะในเชิงปฏิบัติ

หลักการที่ 5 :  ครูพันธุ์ใหม่ใช้ความเข้าใจในตัวเด็กแต่ละบุคคล รวมทั้งการใช้ทั้งแรงจูงใจและพฤติกรรมของกลุ่มมาสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ เพื่อกระตุ้นให้เกิดปฏิสัมพันธ์ทางสังคมในเชิงสร้างสรรค์ มีส่วนร่วมอย่างกระตือรือร้นในการเรียนรู้ และการสร้างแรงจูงใจในตัวของผู้เรียน

หลักการที่ 6 :  ครูพันธุ์ใหม่รู้จักเลือกใช้ถ้อยคำที่ก่อให้เกิดผล สามารถใช้อากัปกิริยาท่าที รวมทั้งเทคนิควิธีการสื่อความหมายที่ช่วยกระตุ้นให้เด็กรู้จักถาม รู้จักแสวงหาความรู้ ตลอดทั้งรู้จักสร้างบรรยากาศแห่งความร่วมมือและปฏิสัมพันธ์ในห้องเรียนอย่างสร้างสรรค์

หลักการที่ 7 :   ครูพันธุ์ใหม่  รู้จักวางแผนการสอนให้สอดคล้องกับเนื้อหาวิชาความต้องการของชุมชนและเป้าหมายของหลักสูตร  

หลักการที่ 8 :  ครูพันธุ์ใหม่มีความเข้าใจและใช้ยุทธวิธีการประเมินผลในรูปแบบทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ เพื่อประเมินสร้างความมั่นใจให้เกิดขึ้นว่าผู้เรียนจะได้รับการพัฒนาทั้งทางสติปัญญา สังคมและร่างกายอย่างต่อเนื่อง

หลักการที่ 9 :  ครูพันธุ์ใหม่จะต้องเป็นนักปฏิบัติการที่มีความถี่ถ้วน รู้จักที่จะประเมินผลการปฏิบัติงานของตนเองและบุคคลอื่นอย่างต่อเนื่อง (นักเรียน พ่อแม่ ผู้ปกครอง และผู้ประกอบอาชีพอื่นๆ ในชุมชนการเรียนรู้) พร้อมทั้งหาโอกาสที่จะสร้างความก้าวหน้าทางวิชาชีพของตนให้เกิดขึ้น

หลักการที่ 10 :  ครูพันธุ์ใหม่จะต้องสร้างความสัมพันธ์กับผู้ร่วมงานในโรงเรียน พ่อแม่ ผู้ปกครอง และหน่วยงานต่างๆ ในชุมชนขนาดใหญ่ (ชุมชนที่มีเครือข่ายมาก) เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของเด็ก